หลวงประดิษฐไพเราะ (ศร/สอน ศิลปบรรเลง) (6 สิงหาคม พ.ศ. 2424 - 8 มีนาคม พ.ศ. 2497) ศิลปินชาวไทย ผู้มีชื่อเสียงจากการเล่นเครื่องดนตรีไทย และประพันธ์เพลงไทยเดิม
หลวงประดิษฐไพเราะ มีนามเดิมว่าสอน หรือศร เกิดเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2424 เป็นบุตรของ นายสิน นางยิ้ม ศิลปบรรเลง บิดาของท่านคือครูสินเป็นเจ้าของวงปี่พาทย์ และเป็นศิษย์ของพระประดิษฐไพเราะ (มี ดุริยางกูร)
ในปี พ.ศ. 2443 ขณะเมื่ออายุ 19 ปี ท่านได้แสดงฝีมือเดี่ยวระนาดเอกถวายสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เป็นที่ต้องพระทัยมาก จึงทรงรับตัวเข้ามาไว้ที่วังบูรพาภิรมย์ ทำหน้าที่คนระนาดเอกประจำวงวังบูรพาไปด้วย พร้อมกับสมเด็จท่านได้ เชิญครูมาสอนที่วัง คือ พระยาประสานดุริยศัพท์ (แปลก ประสานศัพท์) เนื่องจากจางวางศร ได้รับพระกรุณาจากสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุ์วงศ์วรเดช เป็นอย่างมาก ทรงจัดหาครูที่มีฝีมือมาฝึกสอน ทำให้จางวางศรมีฝีมือกล้าแข็งขึ้นในสมัยนั้นไม่มีใครมีฝีมือเทียบเท่าได้เลย
วันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2468 นายสอน ศิลปบรรเลง ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นหลวงประดิษฐไพเราะ มีราชการในกรมมหรสพ ถือศักดินา 400 เข้ารับพระราชทานสัญญาบัตรเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม ณ พระที่นั่งบรมพิมาน แล้วได้รับพระราชทานยศเป็นหุ้มแพร ในวันที่ 13 กรกฎาคม ศกเดียวกัน ทั้งนี้ท่านไม่เคยรับราชการอยู่ในกรมกองใดมาก่อน แต่เพราะฝีมือและความสามารถของท่านเป็นที่ต้องพระหฤทัยนั่นเอง
ครั้นถึงปี พ.ศ. 2469 ท่านได้เข้ารับราชการในกรมปี่พาทย์และโขนหลวง กระทรวงวัง ท่านได้มีส่วนถวายการสอนดนตรีให้กับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี รวมทั้งมีส่วนช่วยงานพระราชนิพนธ์เพลงสามเพลง คือ เพลงราตรีประดับดาวเถา เพลงเขมรละออองค์เถา และ เพลงโหมโรงคลื่นกระทบฝั่ง สามชั้น
โหมโรงกระแตไต่ไม้ โหมโรงปฐมดุสิต โหมโรงศรทอง โหมโรงประชุมเทวราช โหมโรงบางขุนนท์ โหมโรงนางเยื้อง โหมโรงม้าสะบัดกีบ และโหมโรงบูเซ็นซ๊อค เป็นต้น
กระต่ายชมเดือนเถา ขอมทองเถา เขมรเถา เขมรปากท่อเถา เขมรราชบุรีเถา แขกขาวเถา แขกสาหร่ายเถา แขกโอดเถา จีนลั่นถันเถา ชมแสงจันทร์เถา ครวญหาเถา เต่าเห่เถา นกเขาขแมร์เถา พราหมณ์ดีดน้ำเต้าเถา มุล่งเถา แมลงภู่ทองเถา ยวนเคล้าเถา ช้างกินใบไผ่เถา ระหกระเหินเถา ระส่ำระสายเถา ไส้พระจันทร์เถา ลาวเสี่งเทียนเถา แสนคำนึงเถา สาวเวียงเหนือเถา สาริกาเขมรเถา โอ้ลาวเถา ครุ่นคิดเถา กำสรวลสุรางค์เถา แขกไทรเถา สุรินทราหูเถา เขมรภูมิประสาทเถา แขไขดวงเถา พระอาทิตย์ชิงดวงเถา กราวรำเถา ฯลฯ
ชีวประวัติของท่านเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างภาพยนตร์เรื่องโหมโรง ออกฉายในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งได้รับรางวัลมากมายในประเทศ และยังได้รับเลือกในฐานะ Official Selection จากประเทศไทย ในการเข้าชิงสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยมในการประกาศรางวัลอะแคเดมีอีกด้วย และได้รับการดัดแปลงซ้ำเป็นละครโทรทัศน์ ออกฉายทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส เมื่อ พ.ศ. 2555
ในปี 2554 เป็นปีที่ตรงกับวาระ 130 ปี ชาตกาลของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) จังหวัดสมุทรสงครามเป็นถิ่นกำเนิดของศิลปินด้านดนตรีที่มีชื่อเสียงมากมาย อาทิ ครูเอื้อ สุนทรสนาน ทูล ทองใจ รวมถึงหลวงประดิษฐไพเราะ หรือ ศร ศิลปบรรเลง ซึ่งเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดีจากภาพยนตร์เรื่อง "โหมโรง" และถือได้ว่าท่านเป็นตำนานดนตรีไทย โดยเฉพาะทาง “ระนาดเอก” ที่มีฝีมือดีเยี่ยม มีผลงานเพลงที่แพร่หลายฝากไว้จนถึงทุกวันนี้ ก็มีพื้นเพเป็นชาวสมุทรสงคราม
จังหวัดสมุทรสงครามจึงร่วมกับ มูลนิธิหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) เทศบาลตำบลอัมพวา อบต.สวนหลวง ททท.สำนักงานสมุทรสงคราม และหน่วยงานต่างๆ กำหนดจัดงาน ศิลปบรรเลง เพลงอัมพวา ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 5-7 สิงหาคม 2554 ณ อุทยาน ร. 2 โครงการอัมพวา ชัยพัฒนานุรักษ์ และวัดภุมรินทร์กุฎีทอง เพื่อรำลึกและเชิดชูเกียรติท่าน รวมทั้งเผยแพร่ผลงานดนตรีไทยให้กับเยาวชนได้รู้จักและสืบทอดต่อไป
อ่านบทความฉบับสมบูรณ์ได้ที่ http://th.wikipedia.org/wiki/หลวงประดิษฐไพเราะ_(ศร_ศิลปบรรเลง)